การขุดค้นทางโบราณคดี
เพื่อนๆเคยสงสัยกันไหมเอ่ยว่านักโบราณคดี
มีวิธีการอย่างไรในการค้นหา สำรวจ หรือศึกษาวัตถุโบราณที่ฝังอยู่ในพื้นดิน
วันนี้ลิตเติ้ลอาร์จะมาไขข้อสงสัยให้เพื่อนเอง ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันเลยดีกว่า
ที่มา : http://www.santorini.ne |
การขุดค้นทางโบราณคดี
หรือในภาษาอังกฤษคือคำว่า excavation สำนักโบราณคดี
กรมศิลปากร ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ "กระบวนการหรือกรรมวิธีการเก็บข้อมูลหรือการตรวจสอบทางโบราณคดี
โดยการขุดหาวัตถุหลักฐานที่มีการทับถมในชั้นดิน เพื่อทำการศึกษา วิเคราะห์
สรุปเรื่องราว หรือการขุดค้นเพื่อตรวจสอบหรืออนุรักษ์ทางโบราณคดี"
ส่วน อาจารย์
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักเขียนและผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์
ได้บอกวัตถุประสงค์ในการขุดค้นทางโบราณคดีไว้ในหนังสือโบราณคดีเบื้องต้น ว่าเป็น
"การขุดเพื่อค้นคว้าหาความรู้จากโบราณวัตถุ โบราณสถาน
โดยหลักวิชาอันประกอบด้วยการขุดอย่างพินิจพิเคราะห์และจดบันทึกรายงานอย่างถูกต้อง
เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัยพฤติกรรมด้านต่างๆ ของมนุษย์ ที่เราเรียกว่าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม"
นอกจากนี้ Timothy C. Darvill
นักโบราณคดีชาวอังกฤษก็ได้ให้นิยามของการขุดค้นทางโบราณคดีไว้ว่า "วิธีปฏิบัติงานขั้นตอนหนึ่งของการทำงานโบราณคดี
ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยและบันทึกหลักฐานทางโบราณคดีที่ทับถมอยู่ใต้ชั้นดิน
โดยการขุดค้นมีอยู่หลายเทคนิค แต่ละเทคนิคมีข้อเด่นและข้อด้อยแตกต่างกัน เช่น Open
Area Excavation, Planum Method, Quardrant Method และ Wheeler
Method"
อ่านมาถึงในส่วนนี้เพื่อนๆหลายคนอาจจะงงๆบ้าง
แต่ไม่ต้องห่วง ลิตเติ้ลอาร์จะสรุปให้เพื่อนๆเข้าใจได้ง่ายขึ้นเอง
จากคำจำกัดความหรือนิยามต่างๆที่กล่าวมานั้นสามารถสรุปได้ว่า การขุดค้นทางโบราณคดี
คือกระบวนการปฏิบัติงานอย่างหนึ่งในงานโบราณคดี โดยขุดหาหลักฐานที่ทับถมอยู่ใต้ชั้นดิน
เพื่อทำการศึกษา วิเคราะห์ ตรวจสอบ และหาวิธีในการอนุรักษ์ต่อไปนั่นเอง สิ่งที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ได้แก่ โบราณวัตถุ
โบราณสถาน นิเวศวัตถุ
และร่องรอยกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ด้วย
คำถามต่อไปที่จะเกิดขึ้นก็คือแล้วใครกันล่ะที่เป็นคนทำหน้าที่ในการขุดค้น?
ผู้ที่ทำหน้าที่ขุดค้นทางโบราณคดี จะเรียกว่า "คณะขุดค้นทางโบราณคดี"
ที่มา : http://archaeologytraining.org.uk |
คณะขุดค้นทางโบราณคดี ส่วนมากมักประกอบด้วยบุคลากรที่ทำหน้าที่ต่างๆดังนี้
- ผู้อำนวยการขุดค้น
- นักโบราณคดีผู้ควบคุมหลุมขุดค้น
- ผู้ช่วยด้านต่างๆ เช่น
ช่างถ่ายภาพ ช่างเขียนแบบ เจ้าหน้าที่ธุรการ
- คนงาน
- ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้อง
บุคคลที่กล่าวมานั้นเป็นบุคคลที่มีมาจากหลากหลายสายงาน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องมีความรู้ความชำนาญ หรือมีความเข้าใจในการขุดค้นทางโบราณคดี เพราะถ้าไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้หลักฐานทางโบราณคดีต่างๆที่เราต้องการขุดค้นเกิดความเสียหายได้
ต่อมาเรามาดูในส่วนของพื้นที่ที่ขุดค้นกันเลยดีกว่าว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องขุดค้นที่ไหน มีจุดสังเกตคืออะไร?
ที่มา : http://huexonline.com |
พื้นที่เป็นที่ขุดค้นทางโบราณคดี เรียกว่า แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี (Sites) เราจะสามารถทราบพื้นที่ในการขุดค้นทางโบราณคดีได้จาก "การสำรวจทางโบราณคดี"
การสำรวจทางโบราณคดีเป็นการดำเนินงานทางโบราณคดีเพื่อตรวจสอบและค้นหาหลักฐานทางโบราณคดี
ซึ่งหมายตรวจถึงการสำรวจทั้งภาคเอกสารและภาคสนาม เช่น การใช้แผนที่
ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม เอกสารทางประวัติศาสตร์โบราณคดี การสัมภาษณ์และการตรวจสอบพื้นที่
เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลทางด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ ประวัติพื้นที่ หลักฐานทางโบราณคดีและการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา
แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ถึงความสำคัญด้านต่างๆซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนั้นสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการดำเนินงานทางโบราณคดีหรืองานในสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป
เช่น การขุดค้นทางโบราณคดี
เมื่อเข้าใจแล้วว่าการขุดค้นทางโบราณคดีคืออะไร ใครเป็นผู้ทำหน้าที่ในการขุดค้น และจะทราบได้อย่างไรว่าต้องขุดค้นที่ไหน เรามีดูกันต่อเลยดีกว่าว่าการขุดค้นทางโบราณคดีวิธีการขุดอย่างไร สามารถแบ่งได้เป็นกี่ชนิด และแต่ละชนิดมีลักษณะอย่างไร
ที่มา : http://cdnau.ibtimes.com |
ขั้นตอนในการขุดค้นทางโบราณคดี
ในขั้นตอนแรกจะต้องเลือกและเตรียมพื้นที่ในการขุดค้น: การเลือกพื้นที่ที่จะทำการขุดค้นจะต้องเลือกพิจารณาตามสมมุติฐานหรือวัตถุประสงค์ที่ทำการขุดค้นประกอบกับต้องมีความเหมาะสมของพื้นที่ที่สามารถดำเนินการขุดค้นได้
เมื่อได้พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการขุดค้นแล้ว จากนั้นจึงทำการตระเตรียมพื้นที่เพื่อวางแผนผังหลุมขุดค้นต่อไป
ขั้นตอนต่อมาคือการวางแผนผังหลุมขุดค้น จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบด้วยการกำหนดจุดตายตัว (fixed point) และระดับมาตรฐานสมมติ (datum line)
เพื่อใช้ในการอ้างอิงระดับและหลักฐานในการขุดค้นส่วนการวางแผนผังขุดค้น โดยมากนิยมกำหนดแผนผังหลุมขุดค้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
เนื่องจากความสะดวกในการบันทึกข้อมูลและขยายพื้นที่ของหลุมขุดค้น
ที่มา : https://3.bp.blogspot.com |
การขุดค้นทางโบราณคดีมีหลากหลายชนิด
แต่สามารถแบ่งได้ตามวัตถุประสงค์หลัก ๆ ดังนี้
1. ขุดเพื่อตรวจสอบ (Test Pit) เป็นการขุดเปิดหลุมเล็กๆ
เพื่อหาข้อสรุปเรื่องว่ามีอะไรที่สร้างโดยมนุษย์อยู่ใต้ดินหรือไม่ อายุเท่าไหร่
หรือถ้าศึกษาเชิงธรณีวิทยาก็จะดูเรื่องของดินหรือการเปลี่ยนแปลงทางระดับน้ำหรือสภาวะอากาศในยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน
ชั้นดินที่ถูกทับถมนั้นเป็นเสมือนตู้แช่แข็งข้อมูลทางธรรมชาติและสังคมผ่านกาลเวลาอันยาวนาน
นอกจากจะได้ข้อมูลทางโบราณคดีแล้วการขุดยังให้ข้อมูลเชิงสิ่งแวดล้อมและธรณีวิทยาด้วย
2.
ขุดเพื่อกู้หรือซ่อมแซมตกแต่ง (Rescue Archaeology) เป็นการขุดเพื่อการพัฒนาสมัยใหม่ เช่น การก่อสร้าง
การขยายตัวของเมืองมักทำให้เกิดการค้นพบแหล่งโบราณคดีขึ้น หรือแม้แต่ภัยทางธรรมชาติก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีได้
ดังนั้นจึงต้องมีการขุดเพื่อกู้หรือก็คือการเก็บข้อมูลให้มากที่สุดก่อนที่จะสูญเสียหรือเสื่อมสภาพ
การขุดชนิดนี้มีเนื้อหาทางด้านอนุรักษ์หรือเพื่อรักษาสิ่งที่ขุดนั่นเอง
3. การขุดค้นเพื่อศึกษา (Research Archaeology) โครงการศึกษาโบราณคดีส่วนใหญ่นั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีหรือการสร้างหัวข้อวิจัยขึ้น
โดยขนาดของโครงการจะทำในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ
โครงการระดับเล็กใช้ผู้ชำนาญการน้อย มีนักโบราณคดีจำนวนไม่มาก
และขุดเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์โดยรวม โครงการระดับกลางถึงใหญ่อย่างที่เรามักเห็นกันในต่างประเทศจะประกอบด้วยบุคคลากรหลายสาขาวิชา
โดยมากมักเป็นความร่วมมือระหว่างนักโบราณคดีกับนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ
ไปจนถึงสถาปนิก ช่างภาพ หมอ วิศวกร ฯลฯ
เพราะแก่นแท้ของวิชาโบราณคดีคือการใช้สหสาขาวิชามาวิเคราะห์ “ชุดข้อมูล” จากอดีตนั่นเอง
แต่ไม่ว่าจะเป็นการขุดแบบใด สิ่งที่สำคัญที่สุดในการขุดก็คือ จะต้องรักษาและคงสภาพหลักฐานต่างๆ ที่อยู่ในพื้นดินให้ได้มากที่สุด (ทำลายให้น้อยที่สุด) เพื่อที่เราจะได้ศึกษาและหาข้อมูลจากหลักฐานนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าการขุดจะเป็นวิธีที่ทำให้ได้เห็นภาพและเข้าใจอดีตมากที่สุด แต่การขุดแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายเป็นเวลา การจ้างคนงาน การเก็บของ การวิเคราะห์หรือส่งตรวจทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายของการบำรุงรักษาแหล่งที่ขุดขึ้นมาได้ หรือถ้ากลบทับที่ดินดังกล่าวก็มักเกิดปัญหาการบุกรุกหรือลักลอบขุดขึ้น โดยที่ค่าเสียหายเหล่านี้ทำให้แหล่งโบราณคดีนั้นสูญหายไปมากมาย ยิ่งถ้าหากการขุดเป็นไปโดยไม่ครอบคลุมหรือมีผู้ชำนาญการครบทุกมิติแล้ว โอกาสที่จะเสียข้อมูลไปโดยที่ไม่สามารถนำกลับมาได้นั้นเกิดขึ้นได้เยอะมาก
ตอนนี้เพื่อนๆก็คงจะได้ทราบกันแล้วว่าการขุดค้นทางโบราณคดีคืออะไร ครั้งหน้าลิตเติ้ลอาร์จะนำความรู้เกี่ยวกับโบราณคดีอะไรมาฝากเพื่อนๆก็ต้องคอยติดตามกันให้ดีน้า เพื่อนๆสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ในกล่องแสดงความคิดเห็นด้านล่าง หรือมีคำติชมก็สามารถบอกลิตเติ้ลอาร์กันได้เลยนะคะ
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลต่างๆที่ได้ให้ความรู้ในเรื่องการขุดค้นทางโบราณคดีด้วยนะคะ
พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา. (2560). มรดกโบราณคดี: ขุด เพื่ออะไร?. ค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560, จาก
https://thaipublica.org/2017/08/econoarchaeology2/.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). ขุดค้นทางโบราณคดี (การ). ค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560, จาก
www.sac.or.th/databases/archaeology/terminology/ขุดค้นทางโบราณคดี-การ
วิกิพีเดีย สาราณุกรม. Excavation (archaeology). ค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560, จาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Excavation_(archaeology)
เรียบเรียงโดย นางสาว พรพิตรา โสมี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น