รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ที่มา: https://www.bloggang.com |
รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นศิลปะสมัยศรีวิชัยอิทธิพลชวาภาคกลาง พบที่วัดเวียง
อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระนคร มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 หรือประมาณ 1,200 ปีมาแล้ว สูง
63 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าพระโพธิสัตว์องค์นี้ปั้นและหล่อขึ้นในดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทยลงไปถึงเกาะชวาของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่ออาณาจักรศรีวิชัย ที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน มีพระโพธิสัตว์เป็นรูปเคารพที่สำคัญ
เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ได้เสด็จตรวจราชการตามมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ และเมื่อเสด็จมณฑลทางใต้
ได้เสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุที่วัดพระบรมธาตุไชยา ที่อำเภอไชยา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในขณะประทับอยู่บนหลังช้างที่นั่งก็ทอดพระเนตรไปเห็นวัตถุสิ่งหนึ่งวางทิ้งอยู่ข้างทางเสด็จซึ่งก็คือรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้
บริเวณที่ทรงค้นพบนั้น อาจารย์มานิต วัลลิโภดม อดีตหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร
สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ใกล้กับวิหารพระศิลาแดง 3 องค์ ภายในวัดพระบรมธาตุไชยา
เพื่อน ๆ หลายคนคงกำลังสงสัยใช่ไหมเอ่ยว่าคนในอาณาจักรศรีชัยนับถือศาสนาพุทธ ทำไมถึงไม่สร้างพระพุทธรูปแต่กลับสร้างรูปปั้นพระโพธิสัตว์แทน
ในคติพุทธศาสนามหายานนับถือและให้ความสำคัญกับพระโพธิสัตว์มาก
เชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่บำเพ็ญเพียรและประพฤติธรรมจนสามารถเข้าสู่นิพพานได้แล้ว
แต่ด้วยความเมตตาจึงไม่เสด็จไปสู่นิพพาน
ยังคงโปรดสัตว์โลกทั้งหลายเพื่อให้พ้นจากสังสารวัฏ
แล้วจึงจะเสด็จสู่นิพพานเป็นองค์สุดท้าย จำนวนของพระโพธิสัตว์มีมากมายดุจเม็ดทรายในมหาสมุทร
เช่น พระโพธิสัตว์วัชรปาณี พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี พระโพธิสัตว์วิศวปาณี ฯลฯ
แต่องค์ที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ และมีผู้นับถือแพร่หลายที่สุดคือ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร”
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นเทพที่ทรงไว้ซึ่งความเมตตากรุณา
ต้องการนำพามวลมนุษย์ไปสู่นิพพาน สัญลักษณ์สำคัญของพระองค์คือรูปจำลองพระอมิตาภะหรือพระพุทธเจ้าปางสมาธิ ประทับนั่งอยู่บนยอดมงกุฎ ในสมัยศรีวิชัยนับถือพระโพธิสัตว์องค์นี้อย่างแพร่หลาย
และได้พบรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้หลายองค์ในคาบสมุทรภาคใต้ รวมทั้งบริเวณเกาะสุมาตรา
เกาะชวาในอินโดนีเซียด้วย
เพราะเหตุนี้อาณาจักรศรีวิชัยรวมไปถึงดินแดนอื่น ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน จึงนิยมสร้างรูปเคารพพระโพธิสัตว์มากกว่าพระพุทธรูปนั่นเอง
ที่มา: https://pantip.com |
รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหล่อด้วยสำริด ส่วนองค์ท่อนบนของพระโพธิสัตว์ ยืนเอียงพระวรกาย
ทรงศิราภรณ์ ส่วนยอดของชฎามกุฎหักหายไป
พระพักตร์มน พระขนงเป็นสันนูนโค้งด้านบนเป็นร่อง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์จีบ
พระเนตรเหลือบต่ำ สวมสร้อยประคำและกรองศอ พระอังสาด้านซ้ายคล้องผ้าเฉวียงบ่า และ
คล้องทับด้วยสายยัชโญปวีตมีหัวกวางประดับ
พระกรด้านขวาตั้งแต่พระพาหาหักหายไป
ส่วนพระกรซ้ายยังคงเหลือ
ส่วนต้นพระพาหาสวมพาหุรัด ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบประดับบนประติมากรรม
พระอคัสตยะ จากจันทิ (เจดีย์) บานอนในศิลปะชวาภาคกลาง พระวรกายท่อนล่างชำรุดหายไป ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณีที่พบที่ไชยาหากอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก็น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกันกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร
พบที่ทางตะวันออกของอินเดีย
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร พบที่ทางตะวันออกของอินเดีย ที่มา: https://www.silpa-mag.com |
สันนิษฐานว่า
รูปเคารพนี้อาจเป็นองค์เดียวกับพระโพธิ์สัตว์ปัทมปาณิ ที่กล่าวถึงในจารึกจาก
วัดเวียง เรื่อง พระเจ้าธรรมเสตะสร้างปราสาทอิฐ 3 หลัง
เพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์ คือ
พระโพธิสัตว์ปัทมาปาณิ (ผู้ถือถือดอกบัว) พระโพธิสัตว์ปัทมาปาณิทรงเป็นบุคลาธิษฐานของอุบาย
ที่นำไปสู่ปัญญาเพื่อบรรลุพุทธภาวะ มีสองกร พระหัตถ์ขวาประทานพร
พระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัว เป็นรูปแบบหนึ่งของ
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มีผู้นับถืออย่างมาก ทั้งในศาสนาพุทธแบบมหายาน
และวัชรยาน ซึ่งเคารพนับถืออยู่ในชวาภาคกลางในราวพุทธศตวรรษที่ 13 -14 เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงความเกี่ยวข้องระหว่างอาณาจักรศรีวิชัยในคาบสมุทรภาคใต้
กับราชวงศ์ไศเลนทร์ในชวาภาคกลาง พระปัทมปาณิโพธิสัตว์เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีผู้นับถือตั้งแต่ช่วงแรก
ๆ ก่อนการกำเนิดของนิกายตันตระ ชื่อของท่านหมายถึงผู้ถือดอกบัวปรากฏคู่กับพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ในศิลปะอินเดียแบบมถุระเมื่อพุทธศตวรรษที่
7 บางครั้งปรากฏคู่กับพระมัญชุศรีและพระวัชรปาณิเพื่อเป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์จากโคตรทั้งสามคือ
ปัทมโคตร ตถาคตโคตร และวัชรโคตร ตามลำดับ รูปลักษณ์ของท่านต่างไปในแต่ละท้องที่
โดยมากเป็นรูปผู้ชายถือดอกบัว ต่อมาได้เพิ่มแจกันใส่น้ำทิพย์ด้วย
บางท้องที่ถือว่าเป็นภาคสำแดงของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
ที่มา: https://th.wikipedia.org |
นี่ก็คือเรื่องราวของรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ลิตเติ้ลอาร์นำมาฝากเพื่อน ๆ ในวันนี้ เพื่อน ๆ คนไหนอยากแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็น สามารถพูดคุยกันได้ที่ช่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างได้เลย สำหรับวันนี้ลิตเติ้ลอาร์ต้องขอลาเพื่อน ๆ ไปก่อน สัปดาห์หน้าลิตเติ้ลอาร์จะนำความรูเรื่องอะไรมาฝากเพื่อน ๆ ต้องราติดตามกันนนนนนน เจอกันนะทุกคนนนนนนน :)
ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระนคร. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร. ค้นเมื่อ
28 กุมภาพันธ์
2560,
จาก http://www.virtualmuseum.finearts.go.th
จาก http://www.virtualmuseum.finearts.go.th
ศิลปวัฒนธรรม. ประติมากรรมชำรุด แต่งามที่สุดในสยาม. ค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2560,
จาก https://www.silpa-mag.com
จาก https://www.silpa-mag.com
กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร. ค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2560,
จาก https://www.silpa-mag.com
จาก https://www.silpa-mag.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น